วันอังคารที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ครบ1เดือนน้ำมันรั่ว ความรับผิดชอบจาก PTTGC มีแค่ไหน???






เหตุท่อส่งน้ำมันดิบ PTTGC รั่วไหลกลางทะเล จ.ระยอง ครบรอบ 1 เดือนเต็มในวันนี้ (27 ส.ค.) ขณะที่หลายภาคส่วนยังคงสงสัยในความรับผิดชอบต่อการชดเชย เยียวยาและฟื้นฟูจาก PTTGC ตามที่ได้สัญญาไว้ก่อนหน้านี้...  นับถอยหลังตั้งแต่วันเกิดเหตุท่อส่งน้ำมันดิบ บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล(PTTGC) รั่วไหลกลางทะเล จ.ระยอง เมื่อวันที่ 27 ก.ค.ที่ผ่านมา จนถึงวันนี้ครบรอบ 1 เดือนเต็มพอดี ก่อนที่กระแสน้ำจะพัดพาน้ำมันดิบบางส่วนที่รั่วไหล เข้าสู่ชายฝั่งอ่าวพร้าว เกาะเสม็ด สถานที่ท่องเที่ยวอันดับ 1 ของ จ.ระยอง ในช่วงกลางดึกวันที่ 29 ก.ค.ที่ผ่านมา ...      29 ก.ค.2556 ภาพท้องทะเลสีครามและชายหาดสีขาวของอ่าวพร้าว ชายหาดส่วนตัวที่ตั้งรีสอร์ทหรูระดับ 3 ดาวครึ่งถึง 5 ดาว ที่มีสนนราคาค่าที่พักแพงที่สุดในเกาะเสม็ด แปรสภาพเป็นชายหาดสีดำ เหนือผิวน้ำทะเล ถูกปกคลุมด้วยคราบน้ำมันดิบสีดำจำนวนมาก จนอ่าวพร้าวไม่หลงเหลือความงดงามของน้ำทะเลสีฟ้าครามอย่างที่เคยเป็น มิหนำซ้ำคราบน้ำมันดิบจำนวนมหาศาลยังส่งกลิ่นเหม็นกระจายทั่วทั้งชายหาด  อุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด จำเป็นต้องปิดอ่าวพร้าว และประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติทางทะเล นับตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา ในขณะที่นักท่องเที่ยวที่อยู่ระหว่างการท่องเที่ยวพักผ่อนที่เกาะเสม็ด ในทุกๆ อ่าว เริ่มทยอยเช็คเอาท์ หิ้วกระเป๋ากลับก่อนกำหนด เพราะทนกลิ่นเหม็นของน้ำมันดิบไม่ไหว และไม่กล้าลงเล่นน้ำเนื่องจากเกรงว่าจะได้รับอันตรายจากสารเคมีปนเปื้อนในน้ำทะเล ทั้งๆ ที่คราบน้ำมันพัดเข้าชายฝั่งอ่าวพร้าวเพียงอ่าวเดียว แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นขยายวงกว้างต่อธุรกิจท่องเที่ยวทั้งหมดของเกาะเสม็ด ที่มีแหล่งท่องเที่ยวจำนวนมากถึง 12 อ่าว มีธุรกิจต่อเนื่องกว่า 12 ประเภท ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติท่อส่งน้ำมันดิบรั่วไหลในครั้งนี้     อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่เกิดเหตุท่อส่งน้ำมันดิบรั่วไหลกลางทะเล ผู้บริหารระดับสูงของ PTTGC รวมทั้งผู้บริหารระดับสูงของ ปตท. ในฐานะบริษัทแม่ พูดผ่านสื่อทุกแขนงตลอดเวลาว่า   “ขอโทษกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และยินดีเยียวยาชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมดให้กับผู้ได้รับผลกระทบ”  พูดซ้ำแล้วซ้ำเล่า เหมือนกรอเทปกลับไป-กลับมา แต่จนถึงขณะนี้ เรายังไม่เห็นการกำหนดแนวทางเยียวยาอย่างชัดเจนเป็นรูปธรรม     ระหว่างการฟื้นฟูสถานการณ์เฉพาะหน้าคืนทัศนียภาพอ่าวพร้าวให้กลับสู่ภาวะปกติ ภายใต้ปฏิบัติการขจัดคราบน้ำมันบริเวณอ่าวพร้าว PTTGC เข้าสู่กระบวนการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ภายใต้ความร่วมมือกับจังหวัดระยอง จัดตั้งศูนย์ประสานงานให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบและเดือดร้อนจากเหตุการณ์ท่อส่งน้ำมันดิบรั่วไหลกลางทะเล ปฏิบัติงานแบบคู่ขนานไปกับการฟื้นฟูอ่าวพร้าวให้กลับสู่ภาวะปกติ  ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) ยังไม่เคยเปิดเผยข้อมูลรายจ่ายที่ชัดเจน สำหรับการชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นจากเหตุท่อส่งน้ำมันดิบรั่วไหล โดยเฉพาะประมาณการณ์ค่าใช้จ่ายที่จะต้องจ่ายคืนให้กับหน่วยงานต่างๆ ที่ร่วมปฏิบัติภารกิจตั้งแต่เกิดเหตุท่อส่งน้ำมันดิบรั่วไหล และการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายในส่วนของ “กองทัพเรือ” ที่ให้การสนับสนุนทั้งกำลังพล และอุปกรณ์ในการขจัดคราบน้ำมัน ตั้งแต่วันแรกที่ท่อส่งน้ำมันดิบรั่วไหลกลางทะเล เมื่อวันที่ 27 ก.ค.2556 จนกระทั่งสิ้นสุดภารกิจ จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจน จากทั้งกองทัพเรือ และคณะกรรมการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน (กปน.) ต่อการสรุปยอดค่าใช้จ่ายจากปฏิบัติการดังกล่าว     ในขณะที่ ทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์ พยายามประสานไปยัง นายศรศักดิ์ แสนสมบัติ อธิบดีกรมเจ้าท่า ในประธานคณะอนุกรรมการฟื้นฟูและประเมินค่าความเสียหายต่อสภาพแวดล้อมอันเนื่องมาจากน้ำมัน (กปน.) เพื่อสอบถามความคืบหน้าของการเรียกร้องให้ PTTGC จ่ายค่าดำเนินการทั้งหมดที่ใช้ในปฏิบัติการขจัดคราบน้ำมันและฟื้นฟู รวมทั้งจ่ายชดเชยความเสียหาย ให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ไม่สามารถติดต่ออธิบดีกรมเจ้าท่าได้  มีเพียงรายงานข่าวระบุว่า อธิบดีกรมเจ้าท่า เพิ่งประชุมร่วมกับคณะอนุกรรมการฯ ชุดดังกล่าว เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การคิดค่าใช้จ่ายและค่าชดเชยความเสียหาย ครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 15 ส.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุมเห็นชอบให้ตั้งคณะทำงานรับเรื่องราวร้องทุกข์ค่าเสียโอกาส ในพื้นที่ที่เกิดความเสียหายต่อสภาพแวดล้อมอันเนื่องมาจากน้ำมันขึ้น โดยมีนายวิชิต ชาตไพสิฐ ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง เป็นประธาน ทั้งนี้เพื่อกำหนดแผนการปรับปรุง แผนป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันแห่งชาติในอนาคต แต่ในที่ประชุม กลับไม่มีการกล่าวถึงความคืบหน้าของการจ่ายคืนค่าดำเนินการในการขจัดคราบน้ำมัน และฟื้นฟูสถานที่ท่องเที่ยวคืนให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแต่อย่างใด     ส่วนการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบภายใต้ความดูแลของคณะกรรมการเยียวยาฯ ชุดที่มี นายวิชิต ชาตไพสิฐ ผู้ว่าฯเป็นประธาน จนถึงขณะนี้มีการจ่ายเงินเยียวยาให้กับผู้ได้รับผลกระทบไปแล้ว 6 ครั้ง จากจำนวนผู้ยื่นขอรับความช่วยเหลือเยียวยาทั้งสิ้น 5,421 ราย ณ วันที่ 22 ส.ค.2556 โดยแบ่งเป็นกลุ่มโรงแรม, ร้านอาหาร, ธุรกิจบริการ 1,199 ราย กลุ่มประมง 1,791 ราย กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบด้านสุขภาพ 1 ราย และกลุ่มอื่นๆ เช่น พ่อค้าแม่ค้าหาบเร่ แผงลอยตามชายหาด, กลุ่มให้บริการนวดแก่นักท่องเที่ยวและกลุ่มผู้ให้บริการรถสองแถวรับจ้าง 2,430 ราย  โดย PTTGC จ่ายเงินเยียวยาให้กับผู้ได้รับผลกระทบกลุ่มแรก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาวประมงพื้นบ้าน เมื่อวันที่ 10 ส.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่ PTTGC จัดงาน Big Cleaning Day ทำความสะอาดอ่าวพร้าว โดยมีนายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน  ล่าสุดคณะกรรมการเยียวยาฯ ชุดที่มีผู้ว่าฯ เป็นประธาน รายงานสรุปความคืบหน้าการเยียวยาชดเชยให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุท่อส่งน้ำมันดิบรั่ว ณ วันที่ 22 ส.ค.2556 มีผู้ได้รับผลกระทบได้รับเงินเยียวยาจาก PTTGC ไปแล้วทั้งสิ้น 1,892 ราย  คิดเป็นเงินกว่า 50 ล้านบาท แบ่งเป็นกลุ่มโรงแรม, ร้านอาหาร และธุรกิจบริการ 174 ราย กลุ่มอาชีพประมง 1,175 ราย และกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าหาบเร่ แผงลอยตามชายหาด รวมทั้งกลุ่มผู้ให้บริการนวดแผนโบราณอีก 543 ราย     อย่างไรก็ตาม การกำหนดวงเงินเยียวยาแก่ผู้ได้รับผลกระทบในกลุ่มต่างๆ วงเงินจะลดหลั่นกันไปตั้งแต่ 500 บาทต่อวัน สำหรับพ่อค้าแม่ค้าหาบเร่ชายหาด และกลุ่มนวดแผนโบราณ รวม 30 วัน ได้รับวงเงินชดเชย 15,000 บาทต่อราย ในขณะที่กลุ่มประมงได้รับการเยียวยา 1,000 บาทต่อวันต่อครอบครัว เป็นระยะเวลา 30 วัน รวมวงเงินเยียวยาต่อครอบครัว 30,000 บาท ในขณะที่กลุ่มร้านอาหารขนาดใหญ่ และรีสอร์ทหรือที่พักขนาดเล็กกำหนดเยียวยาที่ 2,000 บาทต่อวัน รวมวงเงินเยียวยา 60,000 บาทต่อราย  ในขณะที่ผู้ประกอบการกลุ่มที่พัก-รีสอร์ท ส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับการเยียวยา โดยผู้ว่าฯ ระยอง ระบุว่า ต้องพิจารณาค่าชดเชยอีกครั้ง เพราะผลกระทบเกิดขึ้นในแต่ละรายไม่เท่ากัน จึงต้องมาพูดคุยตกลงกันในรายละเอียด แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ผู้ที่ได้รับผลกระทบจะสามารถลงทะเบียน ยื่นขอรับการชดเชยเยียวยาได้ถึงวันที่ 31 ส.ค.นี้เท่านั้น ส่วนผู้ได้รับผลกระทบที่ยังไม่ได้ลงทะเบียน เมื่อครบกำหนดในสิ้นเดือนนี้แล้ว ต้องไปลงทะเบียนที่ศาลาว่าการจังหวัดระยองเท่านั้น โดยขั้นตอนการอนุมัติจ่ายเงินเยียวยาอาจล่าช้าออกไป     ข้อจำกัดการกำหนดระยะเวลาเยียวยาที่ PTTGC กำหนดให้เพียง 30 วัน นับตั้งแต่วันที่เกิดเหตุท่อส่งน้ำมันดิบรั่วไหล 27 ก.ค.2556  ซึ่งหากตีความตามหนังสือสัญญาของคณะกรรมการเยียวยาฯ หมายความว่า วันที่ 26 ส.ค.2556 คือวันสุดท้ายที่ PTTGC จะจ่ายเยียวยาในเบื้องต้นให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากท่อส่งน้ำมันดิบรั่ว ส่วนผลกระทบที่เกิดขึ้นหลังจากนี้ PTTGC จะจ่ายให้ก็ต่อเมื่อผู้ได้รับผลกระทบนำข้อมูลหลักฐานความเสียหายที่เกิดขึ้นเพิ่มเติม ไปยื่นอุทธรณ์ตามหลักเกณฑ์ทางกฎหมาย เพื่อขออำนาจศาลสั่งให้ PTTGC เยียวยาผลกระทบที่เรียกร้องเพิ่มขึ้น  และทั้งหมดนี้คือส่วนหนึ่งของสาเหตุที่ทำให้กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบบางกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มประมงพื้นบ้านเรือเล็ก รวมถึงผู้ประกอบการที่พัก และรีสอร์ท บนเกาะเสม็ดในบางส่วน  แสดงความไม่พอใจต่อ PTTGC ที่กำหนดค่าเยียวยาโดยไม่คำนึงถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง เพราะนับตั้งแต่เกิดเหตุท่อส่งน้ำมันรั่วกลางทะเลจนถึงขณะนี้ ส่งผลให้สัตว์น้ำในทะเลลดจำนวนลง เช่นเดียวกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่หายไปกว่า 80% ผู้ประกอบการบางรายยังคงเดือดร้อนจากผลกระทบของเหตุการณ์น้ำมันรั่วมาจนถึงทุกวันนี้     น่าเสียดายที่ ข้อมูลตัวเลขการช่วยเหลือเยียวยา รวมทั้งการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมทางทะเลที่ทางบริษัท PTTGC ซึ่งทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์ติดต่อขอไป ยังมาไม่ถึง จึงยังไม่มีตัวเลขการเยียวยาและฟื้นฟูอย่างเป็นทางการจากทางบริษัทฯ ซึ่งเมื่อข้อมูลมาถึงแล้ว เรายินดีที่จะนำมาเสนอในพื้ยที่เดียวกันนี้ทันที...


รองเท้าผ้าใบ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น