วันจันทร์ที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2556

คาดอีก 2-3 วันกู้นกแอร์ไถลรันเวย์ได้ ยันไม่กระทบเที่ยวอื่น



"นกแอร์" ไถลรันเวย์สนามบินอุดรฯ ยังจอดอยู่ รอการเคลื่อนย้ายนำไปซ่อม หลังเจ้าหน้าที่กรมการบินฯ เข้าตรวจสอบจุดเกิดเหตุ พร้อมเจ้าหน้าที่สายการบิน คาดอีก 2-3 วัน ระหว่างรอเครื่องมือซ่อม-เก็บกู้...
เมื่อวันที่ 7 ต.ค. มีรายงานความคืบหน้า กรณีเช้าวันที่ 6 ต.ค.สายการบินนกแอร์ เที่ยวบิน ดีดี 8610 นำผู้โดยสาร 25 คน พร้อมลูกเรือ 3 คน บินจากท่าอากาศยานนานาชาติเชียงใหม่ มายังท่าอากาศยานนานาชาติอุดรธานี แต่ขณะนำเครื่องลงรันเวย์ ได้เกิดอุบัติเหตุเครื่องไถลออกจากแท็กซี่เวย์ เนื่องจากระบบเกียร์และระบบบังคับเลี้ยวขัดข้อง ทำให้ล้อหน้าของเครื่องหัก เครื่องทรุดลงหน้าทิ่ม และใบพัดด้านซ้ายหัก โชคดีผู้โดยสารทั้งหมดและลูกเรือปลอดภัย

ล่าสุด เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 7 ต.ค. เจ้าหน้าที่กรมการบินพลเรือน กรมการขนส่งทางอากาศ พร้อมเจ้าหน้าที่จากสายการบินนกแอร์ ได้เข้าตรวจสอบบริเวณจุดที่เครื่องบินจอด เพื่อตรวจความเสียหายของตัวเครื่องบิน และหาทางกู้ตัวเครื่องบินจากพื้นดิน โดยทางกองบิน 23 ยังไม่อนุญาตให้ผู้สื่อข่าวเข้าไปบันทึกภาพที่จุดเกิดเหตุ

ด้าน นางอัมพวัน วรรณโก ผู้อำนวยการท่าอากาศยานนานาชาติอุดรธานี เปิดเผยว่า ตนเพิ่งมารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 ต.ค. ที่ผ่านมา อุบัติเหตุครั้งนี้ถือว่าโชคดีที่ไม่ได้ร้ายแรง ผู้โดยสารที่เดินทางมากับเที่ยวบินนี้ พร้อมลูกเรือปลอดภัยทุกคน เมื่อผู้โดยสารลงมาจากเครื่อง ได้ถ่ายภาพโพสต์ลงเฟซบุ๊ก ทำให้ข่าวอุบัติเหตุครั้งนี้แพร่หลายไป ซึ่งอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นครั้งนี้ยืนยัน ไม่มีผลกระทบถึงผู้โดยสารที่ใช้บริการสนามบิน โดยสายการบินต่างๆ ยังคงสามารถเปิดให้บริการได้ตามปกติทุกอย่าง มีการปิดจุดที่เกิดอุบัติเหตุเพียงบางส่วนเท่านั้น เพราะสนามบินอุดรธานีมีแท็กซี่เวย์หลายเส้น เนื่องจากเป็นสนามบินใหญ่

ส่วนการกู้เครื่องบิน ขณะนี้ทางกรมการขนส่งทางอากาศ ได้ส่งเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญการบิน ร่วมกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องของสายการบินนกแอร์ เดินทางมาตรวจความเสียหายของตัวเครื่องบิน และสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุในครั้งนี้ เพื่อรายงานส่งกรมการขนส่งทางอากาศ ส่วนในการเคลื่อนย้ายเครื่องบินออกไปจากจุดที่เกิดเหตุนั้น คาดว่าอีก 2-3 วัน น่าจะเคลื่อนย้ายไปซ่อม โดยขณะนี้บุคลากรที่จะกู้และซ่อมเครื่องบินมาพร้อมแล้ว แต่ยังต้องรอเครื่องมือที่ใช้ในการกู้และซ่อมมาถึงที่สนามบินอุดรธานีก่อน ซึ่งไม่ทราบว่าจะมาถึงวันไหน โดยทางสายการบินนกแอร์ซึ่งเป็นเจ้าของทรัพย์สิน จะทำแผนในการเคลื่อนย้าย หรืออาจจะซ่อมที่จุดเกิดเหตุ เพราะการเคลื่อนย้ายที่มีระยะทางไกล อาจทำให้เกิดความเสียหายตัวเครื่องเพิ่มมากขึ้น

ด้านแหล่งข่าวด้าน ความปลอดภัยด้านการบิน เปิดเผยว่า จากอุบัติเหตุของสายการบินนกแอร์ครั้งนี้ สามารถทำการเก็บกู้ตัวเครื่องได้ 2 วิธี วิธีแรก ใช้ถุงลมสอดเข้าไปใต้ตัวเครื่อง แล้วสูบลมเข้าไปในถุงลม เพื่อพยุงยกตัวเครื่องบินขึ้น เพื่อไม่ให้ตัวเครื่องบินเสียหาย จากนั้นจะใช้รถเครนขนาดใหญ่ ที่มีสายหิ้วหรือสายสแตร็ป (strap) ขนาดใหญ่ สอดรอบตัวเครื่องยกขึ้น หรืออาจใช้รถเครนขนาดใหญ่ พร้อมสายหิ้ว ยกตัวเครื่องขึ้น เพราะเป็นเครื่องบินขนาดเบา

รองเท้าผ้าใบ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น