วันศุกร์ที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

สมช.ห่วงมือที่ 3 สั่งเกาะติดม็อบช่วง 1-3 พ.ย.


สมช.ห่วงมือที่ 3 สร้างสถานการณ์ สั่งเฝ้าเกาะติดผู้ชุมนุม 1-3 พ.ย. เพิ่มมากขึ้น หลัง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมผ่านวาระ 3 เผยยังไม่จำเป็น ใช้กำลังทหารคุมม็อบ...

วันที่ 1 พ.ย. 56 ที่กระทรวงกลาโหม พ.อ.จรูญ อำภา รองโฆษกศูนย์อำนวยการร่วมสภาความมั่นคงแห่งชาติ (ศอร.สมช.) กล่าวถึงการชุมนุมทางการเมืองภายหลังที่ประชุมสภาผ่านวาระ 3 ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ไปเมื่อวันที่ 31 ต.ค.ว่า ถือเป็นการต่อสู้ทางรัฐสภา ซึ่งเป็นไปตามครรลองของประชาธิปไตยแล้วไม่สำเร็จ จึงต้องออกมาต่อสู้ข้างนอก โดยทาง สมช.ได้ติดตามสถานการณ์และประสานทุกภาคส่วน เพื่อติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ซึ่งทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นหน่วยงานหลักในการดูแลความปลอดภัยและสถานการณ์ในภาพรวม ซึ่งคาดว่าในวัน ที่ 1 -3 พ.ย.นี้ จะมีผู้ชุมนุนมเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นประชาชนใน กทม. และพื้นที่ใกล้เคียง ส่วนต่างจังหวัดมีไม่มาก

ทั้งนี้ ในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ คาดว่าจะมีผู้ชุมนุมจำนวนมากขึ้น โดยทาง ศอร.สมช.เฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด เมื่อถามว่า สมช.ได้ประเมินสถานการณ์จะรุนแรงเหมือนปี 2553 หรือไม่ พ.อ.จรูญ กล่าวว่า ประเด็นนี้ไม่ได้ตัดออกไป เพราะเคยมีบทเรียนจากปี 2553 ซึ่งผู้บังคับบัญชาทุกระดับได้สั่งการและตระหนัก พร้อมกับขอร้องถึงประชาชนว่า เมื่อเรามีบทเรียนที่เจ็บปวดจากปี 2553 จะทำให้ทุกภาคส่วนที่เข้ามาเกี่ยวข้องสมควรหลีกเลี่ยงความรุนแรง แต่เพื่อความไม่ประมาท ในฐานะที่ สมช. รับผิดชอบในภาพรวม จึงได้แจ้งทุกภาคส่วนให้เฝ้าติดตาม

อย่างไรก็ตาม กลุ่มต่างๆ เท่าที่รู้ เกิดจากความเดือดร้อนจริง ทั้งกลุ่มสวนยางพาราและกลุ่มที่มีความเห็นต่าง ซึ่งเท่าที่ติดตามเป็นกลุ่มเดียวกัน เพียงแต่พยายามดำรงภาพของความเดือดร้อน นำมาเป็นเหตุในการร่วมชุมนุม ส่วนกลุ่มใดที่มีใครหนุนหลังอยู่ ทาง สมช.ก็เฝ้าติดตาม โดยใช้กระบวนการทางกฎหมายเข้าไปตรวจสอบ แต่ขณะนี้ไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นกลุ่มใดบ้าง

เมื่อถามว่าได้ ประเมินถึงกลุ่มมือที่สามที่จะเข้ามาสร้างสถานการณ์จนนำไปสู่ความรุนแรงหรือ ไม่ พ.อ.จรูญ กล่าวว่า เป็นสิ่งหนึ่งที่เราคำนึงถึง และพยายามแจ้งเตือน ส่วนที่เกี่ยวข้องเฝ้าติดตาม กลุ่มต่างๆ เพราะเป็นประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจในการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุรุนแรง

ส่วน จะมีการขยายพื้นที่ประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคงออกไปอีกหรือไม่ ก็เป็นหนึ่งในความคิดที่ต้องเฝ้าติดตามประมวลสถานการณ์ในช่วง 3 วันนี้ ว่าจะมีทิศทางไปทางใดต่อการชุมนุนมของแต่ละกลุ่ม เพื่อนำมาเป็นข้อมูลในการพิจารณาว่าจะขยายพ.ร.บ.ความมั่นคง ทั้งเงื่อนไขเรื่องของวัน เวลา และสถานที่ โดยจะประเมินสถานการณ์กันวันต่อวันเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด รวมถึงมอนิเตอร์อย่างใกล้ชิด ไม่ให้กระดิกไปไหน เพื่อให้เกิดความครอบคลุม

เมื่อ ถามว่า ขณะนี้จำเป็นต้องขอกำลังทหารสนับสนุนเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือไม่ หากเหตุการณ์ขยายวงกว้างออกไป พ.อ.จรูญ กล่าวว่า เท่าที่ได้รับรายงานจาก ศอ.รส.ว่ายังมีกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เพียงพอ แต่เพื่อความไม่ประมาทได้ทำหนังสือขอความร่วมมือไปถึงเหล่าทัพ หากเกิดเหตุการณ์บานปลาย ซึ่งทุกภาคส่วนก็ให้การสนับสนุน โดยเตรียมพร้อมในที่ตั้งในสถานการณ์ปกติ

“การใช้กำลังเจ้าหน้าที่ ทหารอาจเป็นสิ่งสุดท้ายที่จะนำมาดูแลกลุ่มผู้ชุมนุม เพราะศักยภาพของตำรวจมีประสบการณ์จากครั้งที่ผ่านมาและมีบทเรียน คงจะไม่ใช้กำลังของกองทัพโดยไม่จำเป็น หรือไม่ร้องขอโดยไม่จำเป็น หากจำเป็น ทาง พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร. ในฐานะ ผอ.ศอ.รส. จะใช้ดุลยพินิจ ในการขอกำลังเสริมจากกองทัพ” พ.อ.จรูญ กล่าว

เมื่อถามว่า หากกลุ่มคนเสื้อแดงออกมาชุมนุม จนนำไปสู่การปะทะกับกลุ่มที่คัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม พ.อ.จรูญ กล่าวว่า ขณะนี้ได้ประเมินพร้อมเก็บข้อมูล เพื่อแจ้งไปยังทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีศักยภาพในการประสานกับผู้นำของแต่ละกลุ่ม เพื่อทำความเข้าใจในเรื่องความเห็นต่าง แต่เชื่อว่าเมื่อได้มีโอกาสพูดคุยกัน ก็สามารถคลี่คลายปัญหาได้ เมื่อถามว่าทาง สมช. จำเป็นต้องเข้าไปพูดคุยกับ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะแกนนำหรือไม่ พ.อ.จรูญ กล่าวว่า เป็นเรื่องของฝ่ายการเมือง ส่วนทางฝ่ายความมั่นคงดูอยู่ห่างๆ เรื่องของการเมืองเป็นภาระหน้าที่ของการเมือง ทาง สมช.คงจะไม่เข้าไปดำเนินการ

ขณะที่ พ.อ.บรรพต พูลเพียร โฆษก กอ.รมน. กล่าวถึงการเตรียมกำลังทหารสนับสนุนตำรวจในการดูแลกลุ่มผู้ชุมนุน ว่า ขณะนี้ได้เตรียมการณ์ไว้ 1 กองร้อย หรือประมาณ 150 นาย โดยแยกออกเป็นส่วนๆ คือ การดูแลด้านจราจรเป็นหลัก อีกส่วนอยู่ในที่ตั้ง หากมีการร้องขอกำลังเสริม รวมถึงชุดรักษาพยาบาล ซึ่งขณะนี้มีกำลังตำรวจ 56 กองร้อยในการดูแลกลุ่มผู้ชุมนุม ส่วนกำลังสารวัตรทหารจำนวน 1 กองร้อย ได้เตรียมพร้อมในที่ตั้ง.

รองเท้าผ้าใบ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น