วันพฤหัสบดีที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

'กสม.' ห่วงสถานการณ์การชุมนุมรุนแรง



คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ออกแถลงห่วงสถานการณ์การชุมนุม หวั่นสถานการณ์ 2 ฝ่าย หมิ่นเหม่รุนแรง วอนทุกภาคส่วนคำนึง-ปฏิบัติตาม
วัน ที่ 28 พ.ย. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ออกแถลงการณ์เรื่อง ความห่วงใยต่อสถานการณ์การชุมนุม ความว่า ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ออกแถลงการณ์เรื่องข้อสังเกตและข้อเสนอแนะต่อสถานการณ์ทางการเมือง เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2556 และแถลงการณ์เรื่องความห่วงใยต่อเด็กและเยาวชนที่อยู่ในที่ชุมนุม เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2556 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับทราบและติดตามสถานการณ์การชุมนุมมาโดยตลอด มีความห่วงใยอย่างยิ่งต่อสถานการณ์ที่มีการยกระดับและเคลื่อนย้ายกลุ่มผู้ ชุมนุมไปส่วนราชการต่างๆ และการที่รัฐบาลมีการประกาศ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 ขยายพื้นที่เพิ่มเติมในขณะที่สถานการณ์ยังไม่เกิดเหตุความรุนแรงจากกลุ่มผู้ ชุมนุม ทำให้หวั่นเกรงว่าสถานการณ์จากทั้งสองฝ่ายอาจหมิ่นเหม่ที่จะนำไปสู่ความ รุนแรงและการละเมิดสิทธิมนุษยชนเหมือนการชุมนุมในอดีตที่ผ่านมา
คณะ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งมีบทบาทและหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยในอันที่จะส่งเสริม การเคารพและปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชนเพื่อให้เหตุการณ์ บ้านเมืองเกิดความสงบและเรียบร้อยอยู่ร่วมกันด้วยความสันติสุข จึงขอให้ทุกภาคส่วนคำนึงและควรปฏิบัติ  ดังนี้

1. กลุ่มผู้ชุมนุมต้องชุมนุมด้วยความสงบ และปราศจากอาวุธ ปฏิบัติตนภายใต้หลักการสิทธิเสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญแห่ง ราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 รวมถึงการปฏิบัติตามกฎหมาย อีกทั้งไม่ละเมิดกฎหมายหรือสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่น  

2. ประชาชน ทุกภาคส่วน นักวิชาการ และกลุ่มบุคคลต่างๆ ซึ่งมีสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามระบอบประชาธิปไตย แม้ว่าจะมีความเชื่อและความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างกัน ต้องเคารพในความเชื่อและความคิดเห็นของทุกฝ่าย การให้ข้อคิดเห็นต้องอยู่บนพื้นฐานของการเคารพสิทธิและเสรีภาพ ไม่ก่อให้เกิดการกระตุ้นที่จะส่งผลให้เกิดความแตกแยกและความรุนแรงในสังคม       

3. รัฐบาล ประชาชนทุกภาคส่วน และกลุ่มบุคคลต่างๆ ต้องเคารพการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชน และไม่คุกคามสื่อมวลชนในการนำเสนอข่าวที่เป็นข้อเท็จจริง ในขณะเดียวกันสื่อต้องนำเสนอข่าวสารข้อมูลด้วยความเป็นกลางไม่โอนเอียงเข้า กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

4. รัฐบาล และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องโปรดดูแล ป้องปราม มิให้เกิดสถานการณ์ที่หมิ่นเหม่จะก่อให้เกิดเหตุการณ์รุนแรงใดๆ เกิดขึ้น และปฏิบัติต่อกลุ่มผู้ชุมนุมตามหลักการสากล โดยหลีกเลี่ยงการใช้อาวุธและความรุนแรง

5. รัฐบาล และกลุ่มผู้ชุมนุมควรมีการเจรจาด้วยสันติวิธี และร่วมกันแก้ไขปัญหาด้วยเหตุและผล     
ทั้งนี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จะเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการชุมนุมและการ ปฏิบัติต่อผู้ชุมนุมจะเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน อันจะนำมาซึ่งความสงบสุขของประเทศต่อไป
รองเท้าผ้าใบ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น